“มหัศจรรย์ผงไหม สร้างมูลค่าสู่ภาคอุตสาหกรรม”
(29 เมษายน 2552) สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สทน. จัดเสวนา คุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง "มหัศจรรย์ผงไหม” โดยมี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานกล่าวเปิดเสวนา พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) คุณบุญญา สุดาทิศ ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ คุณนิษฐา รุจิประชากร กรรมการผู้จัดการบริษัท แก้วหลวง จำกัด คุณสุชสดา สิงสถิต ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเนื้อสัตว์ จ.เลย คุณสมุทร คำพระ ผู้แทนเกษตรกร อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ร่วมให้ความรู้ในเวที ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ในแต่ละปีมีวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ไหมก็เช่นดียวกัน หลังจากนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอแล้วปีหนึ่งๆ ประเทศไทยยังมีเศษไหมเหลือทิ้งไม่ต่ำกว่า 2 แสน กิโลกรัม ซึ่งในเส้นไหมจะมีส่วนประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายจำนวนมาก หากมีโอกาสนำเศษไหมเหลือใช้เหล่านี้นำไปต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เห็นประโยชน์ของเศษไหมเหล่านี้ จึงเริ่มศึกษาวิจัย และปรับปรุงคุณสมบัติของผงไหมโดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เป็น ผลให้ได้ผงไหมที่มีคุณภาพสูง และนำผงไหมที่ได้จากการวิจัยดังกล่าวถ่ายทอดไปยังผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง และภาคการเกษตร ซึ่งทำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูง เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเหล่านั้นได้อีกทางหนึ่ง
ด้าน ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งในรูปแบบขององค์การมหาชน มีหน้าที่หลัก ส่วนแรก คือ การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ส่วนที่สอง คือ ให้บริการ เผยแพร่ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศ สำหรับงานบริการของศูนย์บริการทั้ง 5 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ศูนย์ไอโซโทปรังสี ศูนย์ฉายรังสี ศูนย์ฉายรังสีอัญมณี และศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี นั้น เราได้ต่อยอดและพัฒนามาจากผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น ฉะนั้นงานวิจัยจึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของ สทน. “ในปีๆหนึ่ง เราจะมีงานวิจัยประมาณ 40-50 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องจะพิจารณาถึงปัญหาพื้นฐานของสังคมและสามารถที่จะนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปช่วยแก้ไขปัญหา”
สทน. มีอายุครบ 3 ปี ถึงแม้งานวิจัยบางเรื่อง และงานบริการส่วนใหญ่ได้รับการโอนย้ายมาจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แต่ในส่วนงานวิจัยของ สทน. ได้พิจารณาคัดสรรงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ตั้งเป้าว่าผลงานวิจัยทุกเรื่องต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ผล งานวิจัยของ สทน.ที่เผยแพร่ออกไปสู่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือ ประชาชน นั้นมีความหลากหลาย ทั้งงานวิจัยด้านการแพทย์ซึ่งมีการใช้อยู่มากกว่า 25 โรงพยาบาลในประเทศไทย งานวิจัยด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีคุณภาพดีต้านทานโรค ให้ผลผลิตสูงมากกว่าพันธุ์เดิมหรือการฉายรังสีเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช งานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และอุตสาหกรรม นักวิจัยมุ่งศึกษาและพัฒนาโครงการวัสดุต่างๆเช่น ไม้ โลหะ โพลิเมอร์ ให้ทนทาน มีคุณภาพดี และสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น
ดร. สมพร กล่าวต่อไปว่า “ผลงานวิจัยของ สทน. ได้ถูกนำไปใช้มากมาย โดยเฉพาะด้านการแพทย์และการเกษตร ส่วนในด้านอุตสาหกรรมมีการนำไปใช้แต่ยังไม่กว้างขวางนัก เช่น การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการตรวจวิเคราะห์หอกลั่นน้ำมัน หรือ ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ในอุตสาหกรรม โดยใช้เทคนิคการตรวจสอบโดยไม่ทำลาย หรือการใช้รังสีในการควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้าในโรงงานอุตสาหกรรม”
สำหรับโครงการผลิตผงไหมโดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมหม่อนไหม เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการมองเห็นมูลค่าของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนักวิจัย สทน. ศึกษาร่วมกับสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ จาก การนำรังไหมและเศษไหมที่เหลือจากจากอุตสาหกรรมทอผ้านำมาฉายรังสีแกมมา ซึ่งจะทำให้เส้นไหมสามารถบดเป็นอนุภาคเล็กๆ ได้ง่ายกว่าการไม่ฉายรังสี การฉายรังสียังทำให้เส้นไหมสามารถละลายน้ำได้ดีอีกด้วย เทคโนโลยีดังกล่าว สามารถช่วยให้การนำผงไหมไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น ดร.สมพรกล่าวทิ้งท้าย
นางบุญญา สุดาทิศ ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวในเวทีเสวนาว่า สทน. ได้ทำการวิจัยร่วมกับกรมวิชาการเกษตรพบว่าผงไหมสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการ แพทย์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีกรดอะมิโนอยู่มากถึง 16-18 ชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยรักษาแผลให้หายเร็วขึ้น สามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง ทั้งยังช่วยรักษาปริมาณน้ำในผิวหนัง กำจัดสิ่งสกปรกในเซลล์และยืดอายุเซลล์ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยยังพบว่า ผงไหมพันธุ์ไทยยังมีคุณสมบัติพิเศษ บางชนิดเด่นมากกว่าพันธุ์ไหมของต่างประเทศ เช่น มีสารช่วยป้องกันผิวแห้งและลดแอลกอฮอล์ในตับซึ่งมีมากกว่าถึง 3 เท่า มีสารช่วยความจำ ช่วยกระตุ้นการเต้นของหัวใจมากกว่า 2 เท่า และมีสารลดการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสและสารต้านไวรัส มากกว่า 4 เท่า (เมื่อเทียบกับพันธุ์ไหมต่างประเทศ)
“ผงไหม” ยังมีสารที่ช่วยควบคุม คอเลสเตอรอลในหลอดเลือด สลายแอลกอฮอล์ในร่างกาย ช่วยความจำ อีกทั้งยัง ช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ฯลฯ ดังนั้น หากนำมาผสมในอาหาร นอกจาก จะเพิ่มคุณค่าสารอาหาร และยังมีประโยชน์ในหลายๆ ด้านอีกด้วย สทน. ประสบความสำเร็จในผลิตซิลล์เพปไทด์ (silk peptide) ที่มีอนุภาคขนาด 25-50 ไมครอน มีความสามารถในการละลายน้ำ 99.8 % มี ลักษณะเบาฟู ดูดซับความชื้นจากอากาศได้ยาก มีสารปนเปื้อนประเภทโลหะหนักน้อยกว่าผงไหมที่ผลิตจากที่อื่น สำหรับผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำผงไหมไปเป็นส่วนผสมได้ เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น ไอศกรีม บะหมี่ หมูยอ กุนเชียงที่ใส่ผงไหม ลักษณะจะนุ่มเหมือนกับของซึ่งทำออกใหม่ ลักษณะเนื้อเหมือนกับว่าผสมหมูเนื้อแดงในอัตราส่วนที่มาก และสีสันยังสด เนื้อนุ่มชวนกิน ส่วนโยเกิร์ต หรือไอศกรีม จะทำให้มีเนื้อผลิตภัณฑ์ที่เนียน ไม่ละลายง่าย บะหมี่ ทำให้มีคุณสมบัติเหนียวนุ่มไม่ยุ่ย เมื่อเร็ว ๆ นี้ สทน. ได้ทดลองฉีดสารละลายโปรตีนไหมกับข้าวหอมปทุมธานี เนื้อที่ 2 ไร่ เปรียบเทียบกับข้าวหอมปทุมธานีที่ไม่ได้ฉีดสารละลายโปรตีนไหม (เนื้อที่ 10 ไร่) ที่ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ซึ่ง เป็นข้าวที่ปลูกในแปลงติดกัน มีคันนาติดกัน เริ่มปลูกในวันเดียวกัน และปฏิบัติเช่นเดียวกันทุกขั้นตอน แตกต่างกันที่การฉีดพ่นสารละลายไหมเท่านั้น ผลปรากฏว่า ข้าวหอมปทุมธานี แปลงที่ฉีดสารละลายโปรตีนไหม ให้สภาพต้นข้าวที่ดูแข็งแรง ใบเขียว ตั้งตรงกว่าต้นข้าว ที่ไม่ได้ฉีด ออกรวงและเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าประมาณ 7 วัน และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่ละ 38.75% คิดเป็นจำนวนเงินเพิ่มประมาณไร่ละ 2,900 บาท
คุณนิษฐา รุจิประชากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แก้วหลวง จำกัด ผู้ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ เปิดเผยว่า เดิม บริษัทฯ ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและดำเนินการผลิตเส้นไหมและผ้าไหมขาย ปรากฏว่าเมื่อผลิตเสร็จไม่สามารถขายสินค้าได้ เนื่องจากเส้นไหมและผ้าไหมที่ผลิตจากเกษตรกรไทยมีราคาสูง อีกทั้งประเทศไทยมีการลักลอบการนำเข้าเส้นไหมสูงมาก จึง เริ่มศึกษาผู้ประกอบการผลิตผงไหมของต่างประเทศ ประกอบกับมีนักมีนักวิทยาศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นมาติดต่อเพื่อขอตั้งโรงงาน ผลิตผงไหมในประเทศไทย บริษัทฯ ก็ไม่ได้ตอบรับการมาตั้งโรงงานผลิตในไทย และพยายามติดต่อนักวิจัยที่เป็นคนไทย จนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผงไหมจากนักวิจัยไทย ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันได้ทำการผลิตผงไหม จำหนายให้กับสปา ธุรกิจความงาม และขายให้กับผู้บริโภคทั่วไป จนประสบความสำเร็จ และได้จดลิขสิทธิเป็นผู้จำหน่ายเพียงผู้เดียวของประเทศไทย
ส่วน คุณสุชาดา สิงสถิต ผู้ แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปเนื้อสัตว์ จ.เลย กล่าวว่า ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการนำผงไหมช่วยเพิ่มคุณภาพอาหาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเลยที่เป็นเครือข่ายคลินิกเทคโนโลยี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ ร่วมกันทดลองโดยนำผงไหมสีเหลืองและผงไหมสีขาว มาเป็นส่วนประกอบในอาหาร จนประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องใส่ผงชูรส ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด เช่น หมี่กรอบ ซึ่งจะมีความกรอบอยู่นานโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น ลูกชิ้นก็จะเด้งโดยไม่ต้องใส่สารบอร์แลค เป็นต้น อีกทั้งยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย
คุณสมุทร คำพระ ผู้แทนเกษตรกร อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง กล่าวว่า เมื่อนำผงไหมไปฉีดในนาข้าว ทำให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น เดิมผลผลิตข้าว 1 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 800– 900 กิโลกรัม เมื่อใช้ผงไหม ซึ่งต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตไร่ละ 160 บาท จะได้ผลผลิตข้าวประมาณ 1,200 – 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลกรัม เป็นหนทางช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และยังไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สทน. ประกอบด้วย บริษัท แก้วหลวง จำกัด เป็นผู้ผลิตผงไหม บริษัท สุโขสปา จำกัด วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปเนื้อสัตว์อำเภอภูหลวง จ.เลย บริษัท ฮ่องเต้ ผู้ผลิตกุนเชียงในจังหวัดราชบุรี ส่วนผู้ที่นำโปรตีนไหมไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด ต.ตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี และเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จ.อ่างทอง
ที่มา : http://www.most.go.th/main/index.php/component/content/article/222.html |